“วราวุธ” กางแผนแก้ภาวะโลกร้อน บนเวที COP27 กลางเดือนนี้ พร้อมชูความสำเร็จของไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT 2022) หัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ”ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อขยายความร่วมมือ ระดมความมุ่งมั่น และการปฏิบัติจากภาคส่วนต่าง ๆ
โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อร่วมหารือในการบรรเทาและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ และความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเมื่อวันวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UN)
“วราวุธ” กางแผนแก้ภาวะโลกร้อน บนเวที COP27 กลางเดือนนี้
ภายหลังร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน นายวราวุธ ให้สัมภาษณ์ ว่า งาน Global Compact Network Thailand หรือ GCNT สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้เข้ามามีส่วนสำคัญให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 – 2065
ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ และเรื่องที่ได้หารือในวันนี้ ก็สามารถนำไปต่อยอดได้ในการประชุม COP 27 ที่ประเทศอียิปต์ ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าได้
นายวราวุธ ยังระบุว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน ได้รับมือและปรับพฤติกรรมพร้อมแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
“วราวุธ” กางแผนแก้ภาวะโลกร้อน บนเวที COP27 กลางเดือนนี้
ส่วนประเด็นที่จะนำไปประชุมในเวที COP 27 นายวราวุธ เปิดเผยว่า ประเด็นแรกคือเรื่องของแผนในระยะยาวไปจนถึงปี 2065 ที่ประเทศไทยวางแผนที่จะลดคาร์บอนจาก 388 ล้านตัน ลงไปเหลือ 120 ล้านตัน และนำเสนอแผนระยะสั้นว่าภายในปี 2030 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนลงไป 40 เปอร์เซ็นต์ และประเด็นที่สาม เป็นความสำเร็จ และยืนยันว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการ
ภายใต้ข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Paris Agreement ที่ตกลงกันไว้ ซึ่งขณะนี้มีประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คู่แรกที่สามารถทำได้ และจะเรียกร้องให้นานาอารยประเทศเร่งดำเนินการเรื่องนี้
ภายใต้ข้อตกลงต่าง ๆ ไปด้วยกัน เพราะประเทศไทยได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอย่างมาก ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้มีดีแต่พูด แต่เราทำได้จริงจนประสบความสำเร็จ
ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยนับพื้นที่แล้ว มี 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่ความหลากหลายทางชีวภาพมีถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นความอุดมสมบูรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องรักษาไว้
ทั้งในรูปแบบของป่าชุมชนที่ปัจจุบันมีถึง 11,370 แห่งทั่วประเทศ และจากการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทนั้นจะทำให้สามารถขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น