บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เตรียมเปิดให้เช่าแลนด์แบงก์รอบสนามบินหลัก 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ รวม 46 แปลง คิดเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 2,512 ไร่ ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ คาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 28,800 ล้านบาท โดยมีอัตราค่าเช่าเริ่มต้นตั้งแต่ 16-240 บาทต่อตารางวาต่อเดือน
นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยว่า ในปี 2568 AOT มีความพร้อมเต็มที่ในการเปิดประมูลให้เช่าระยะยาวบนแลนด์แบงก์ที่ไม่ได้อยู่ในเขตการบิน (แอร์ไซด์) เพื่อกระตุ้นการลงทุนและสร้างรายได้ให้กับองค์กร โดยแลนด์แบงก์ทั้งหมดมีทั้งที่อยู่ในรั้วสนามบินและโดยรอบสนามบิน
เพื่อส่งเสริมแผนการสร้างรายได้ที่มั่นคงจากที่ดินเหล่านี้ AOT ได้จัดงาน “AOT Property Showcase: The Six Pillars of Opportunity” เพื่อนำเสนอโอกาสการลงทุนบนที่ดินทำเลศักยภาพสูงทั้ง 6 สนามบิน โดยรูปแบบการเช่าได้ถูกออกแบบให้รองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกอบการทั้งรายกลางและรายใหญ่ ด้วยสัญญาเช่าที่ยืดหยุ่น ตั้งแต่ 3 ปี, 5 ปี, 10 ปี, 20 ปี และสูงสุดถึง 30 ปี
สำหรับการต่ออายุสัญญาเช่าที่เกินกว่า 30 ปี นางสาวปวีณาชี้แจงว่า สามารถหาแนวทางร่วมกันได้ เนื่องจาก AOT มีสัญญาเช่าที่ราชพัสดุอยู่กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นระยะเวลา 30 ปี และการที่ AOT เป็นหน่วยงานรัฐที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วน 70% ทำให้การต่ออายุที่ดินเช่าอยู่ในแนวทางที่สามารถดำเนินการได้
แลนด์แบงก์ทั้งหมด 2,512 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์หรือฟรีโฮลด์ที่ AOT ได้ซื้อไว้ในช่วงเวลาต่างๆ จำนวน 681 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 27% ซึ่งเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจสามารถเจรจาเพื่อขอซื้อได้ ส่วนที่เหลืออีก 73% จำนวน 1,831 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุที่ AOT เช่าใช้ประโยชน์จากกรมธนารักษ์
แม้ว่าที่ดินส่วนใหญ่จะมีสีผังเมืองเป็นสีน้ำเงิน (ใช้ประโยชน์ส่วนราชการ), สีเขียว (เกษตรกรรม), สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) และสีชมพู (ชุมชน) แต่นางสาวปวีณาเน้นย้ำว่า ผู้เช่าสามารถลงทุนได้อย่างเปิดกว้างถึง 13 กิจกรรมเศรษฐกิจภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายจัดตั้ง AOT ที่เปิดช่องให้เป็นกิจกรรมสนับสนุนด้านการบิน
จากการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจเบื้องต้น ที่ดินเหล่านี้เหมาะสำหรับการพัฒนาโครงการที่หลากหลาย ทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม อพาร์ตเมนต์ให้เช่า โลจิสติกส์พาร์ค คลังสินค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้า โรงพยาบาล สนามกีฬา และเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังรองรับโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้เช่นกัน โดยมีตัวอย่างความสำเร็จจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้
นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาดของ AOT ได้เปิดเผยรายละเอียดของแลนด์แบงก์ในแต่ละสนามบิน ดังนี้
1. สนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) แบ่งเป็น 2 โซนหลัก คือ โซน “Airport Business” 4 แปลง รวม 548 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินทำเลทองภายในสนามบิน ใกล้ศูนย์ขนส่งสาธารณะ และโซน “ศูนย์บริการและสนับสนุนกิจการท่าอากาศยาน” 7 แปลง เป็นที่ดินฟรีโฮลด์ 462 ไร่ เหมาะสำหรับ Logistics & Transportation Hub และโรงแรม
2. สนามบินดอนเมือง (DMK) มีอาคาร Junction Building พื้นที่เชิงพาณิชย์ 12,000 ตร.ม. พร้อมพื้นที่จอดรถ 3 ชั้น รองรับการใช้งานกว่า 1,000 ช่องจอด
3. สนามบินเชียงใหม่ (CNX) มีที่ดิน 3 แปลง รวม 19 ไร่ ติดถนนเชียงใหม่-หางดง อยู่ในย่านชุมชนและใกล้สถานีขนส่งจังหวัด
4. สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (CEI) มีที่ดินผืนใหญ่ 762 ไร่ บนที่ตั้งของสนามบิน เดินทางถึงอาคารผู้โดยสารเพียง 5 นาที
5. สนามบินภูเก็ต (HKT) มีที่ดิน 7 แปลงเด่น รวม 192 ไร่ รูปแบบฟรีโฮลด์ ใกล้ถนนเทพกระษัตรี-ในยาง
6. สนามบินหาดใหญ่ (HDY) มีที่ดิน 4 แปลงใหญ่ 15 แปลงย่อย รวม 502 ไร่ อยู่ทั้งภายในและภายนอกสนามบิน
นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงของ AOT ได้แนะนำเคล็ดลับการลงทุนว่า ในการพิจารณาลงทุนบนแลนด์แบงก์ของ AOT นักลงทุนควรพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) โลเกชั่น ที่เป็นทำเลทองเพราะอยู่ในเมืองหรือมีเมืองล้อมรอบ 2) ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้ลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ 3) ราคาค่าเช่าที่มีตั้งแต่ประหยัดจนถึงระดับพรีเมียม โดยเฉพาะพื้นที่รอบสุวรรณภูมิซึ่งถือเป็นที่ดินผืนใหญ่ที่สุดบนทำเลไข่แดงรอบสนามบินของไทย
นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับสำคัญสำหรับการลงทุนคือ “อย่าทำของแพงในที่ดินไม่แพง ทำของแพงในที่ดินแพง และทำของถูกในที่ดินถูก” เพื่อให้การลงทุนประสบความสำเร็จ
ด้าน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้แสดงความเห็นว่า การที่ AOT เปิดให้เช่าที่ดินเป็นโมเดล “วิน-วิน” ที่สร้างประโยชน์ร่วมกัน เพราะที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จะไม่สร้างมูลค่าให้กับใคร
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะมีความท้าทายจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และเวิลด์แบงก์ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหลือเพียง 1.6% แต่ ดร.กิริฎาเน้นย้ำว่า “ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ” โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเป็นรูปแบบ K Shape คือมีบางธุรกิจเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย (K ขาบน) และบางธุรกิจเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (K ขาล่าง)
ธุรกิจที่อยู่ใน K ขาบน ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจเทคโนโลยี เวลเนส และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งยังคงเติบโตได้ดีแม้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการค้าทั่วโลกยังนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ จากการเคลื่อนย้ายทุน
ประเทศไทยซึ่งมีนโยบายเป็นกลางและสามารถร่วมมือกับทุกฝ่าย ได้รับประโยชน์จากการเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญ สะท้อนจากตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2566-2567) ที่มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงสุดเป็นประวัติการณ์เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และไบโอเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค