“พาณิชย์” ผนึก “สถาบันอัญมณีฯ” ลุยต่อดันจันทบุรีเป็นมหานครอัญมณี จัดงานพลอยนานาชาติทั่วโลกชื่นชม

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

รัฐบาลได้มีเป้าหมายในการผลักดันให้จังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือเป็นมหานครอัญมณีของโลก เพราะมีจุดแข็งที่พลอยก้อนจากทั่วโลกกว่า 80% ถูกส่งมาปรับปรุงคุณภาพและเจียระไนที่ประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางการผลิตและการค้าที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และยังมีตลาดกลางซื้อขายพลอยและอัญมณีที่สำคัญและทั่วโลกรู้จัก ให้การยอมรับ

ปัจจุบันการขับเคลื่อนให้จังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณีของโลก มีความคืบหน้าทั้งในระดับประเทศและระดับโลก คนที่อยู่ในวงการอัญมณีและเครื่องประดับต่างรู้กันดีว่าถ้าอยากจะหาพลอยที่ดีที่สุด จะหาช่างเจียระไนที่ดีที่สุด การหุงพลอย เผาพลอย ที่ดีที่สุด จะซื้อ จะขายพลอย ต้องไปที่ไหน ซึ่งสามารถมาหาได้ครบ จบได้ที่จังหวัดจันทบุรี

ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลยังได้เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นนครอัญมณีของโลกอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ได้ร่วมกับจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดงาน “เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022” (International Chanthaburi Gems and Jewelry Festival 2021-2022) เมื่อช่วงวันที่ 3-7 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา มีจุดจัดงานหลัก 3 แห่ง คือ 1. ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี 2. เคพี จิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และ 3. บริเวณตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์

การจัดงานในครั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปเปิดงานด้วยตัวเอง โดยมีนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการ GIT และนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

โชว์ศักยภาพมหานครอัญมณีของโลก

นายจุรินทร์กล่าวว่า การจัดงานมีความสำคัญต่อการผลักดันให้จังหวัดจันทบุรีเป็นมหานครอัญมณีของโลก เพราะมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งเป็นตลาดการค้าพลอยที่สำคัญของโลก เป็นแหล่งผลิต แหล่งซื้อขาย มีตลาดกลาง และเป็นศูนย์รวมการเผา การเจียระไน ที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งปัจจุบันทั้งโลกรู้จักจังหวัดจันทบุรี รู้ว่าเป็นนครอัญมณีของโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ และ GIT ได้ใช้โอกาสนี้จัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022 เพื่อตอกย้ำ และโชว์ศักยภาพ

“การจัดงานครั้งนี้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของโลก และในงานนี้ยังได้มีการจัด OBM (Online Business Matching) เพื่อเชื่อมผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่เชี่ยวชาญที่สุดกระทรวงหนึ่งของโลก เพราะเราเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมทางการตลาดในยุคโควิด-19 ที่เรียกว่าระบบไฮบริด นำระบบการค้าขายดั้งเดิมกับระบบออนไลน์มาร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้ตั้งเป้าไว้หลาย 10 ล้านบาท ที่จะสามารถทำสัญญาซื้อขายจริงและจะเพิ่มอีกทั้งปี และหวังว่าการจัดงานเทศกาลพลอยนานาชาติครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งที่จะช่วยให้จันทบุรีเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนไปได้อีกหลายรอบต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

ช่วยขับเคลื่อน SMEs การจ้างงาน

นายจุรินทร์กล่าวว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมามีมูลค่าการค้ารวมถึง 200,000 ล้านบาท โดย 80% เป็นการค้าเพื่อการส่งออก มีอัตราการเจริญเติบโตแม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยบวกถึง 27% เป็นลมหายใจของจันทบุรีและประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นลมหายใจของเศรษฐกิจฐานราก เพราะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย 90% เป็น SMEs และ Micro SMEs ก่อให้เกิดการจ้างงานเกือบ 1,000,000 คนกระจายไปทั่วประเทศ การที่กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลมาช่วยสนับสนุนกับภาคเอกชนและทุกหน่วยงานถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องอย่างยิ่ง

เปิดตลาดกลางพลอยนานาชาติ

ในช่วงการจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022 นายจุรินทร์ได้ใช้โอกาสนี้เปิดตลาดกลางพลอยนานาชาติจันทบุรี เพื่อใช้เป็นแหล่งซื้อขายพลอย อัญมณี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยพัฒนาตลาดตรงนี้ โดยปรับภูมิทัศน์ให้งดงามเป็นระบบระเบียบ ดูเป็นอินเตอร์มากขึ้น เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาค้าขายเพิ่มเติมขึ้น นำระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ที่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ดิจิทัลมาช่วย และที่สำคัญที่สุด การมาค้าขายพลอยที่นี่มั่นใจได้ เพราะมีสถาบันอัญมณีฯ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีเอกสารรับรองเชื่อมั่นได้

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปกรมการค้าภายในจะร่วมกับสถาบันอัญมณีฯ พัฒนาเป็นตลาดต้องชม เพราะมีตลาดต้องชมเดิมอยู่แล้วขนานกับริมแม่น้ำ แต่จะเปิดตลาดใหม่เป็นตลาดต้องชมเต็มรูปแบบ มีทั้งพลอยและสินค้าอื่นๆ

 

กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการ GIT กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันจังหวัดจันทบุรีให้เป็นนครอัญมณีหนึ่งในศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (Chanthaburi : City of Gems) และเป็นการตอกย้ำตำแหน่งและภาพลักษณ์ของจังหวัดในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าพลอยที่สำคัญของโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค และยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่จะได้นำเสนอสินค้า และเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ โดย GIT ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดให้มี Online Business Matching จับคู่ 102 คู่ เจรจากับลูกค้าใน 16 ประเทศ

ส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การจัดงานนอกจากจะเป็นการผลักดันความเป็น นครอัญมณี ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกให้เป็นรูปธรรมแล้ว ยังจะเป็นการกระตุ้นฟื้นฟูการค้าอัญมณีให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง และยังได้ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน และงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงเขาคิชฌกูฏ ซึ่งได้ช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และภาคการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัด

 

งัดทุกจุดแข็งมาแสดงให้เห็น

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT กล่าวว่า การจัดงานได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้ออัญมณี และเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดในภาคตะวันออก และผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐานในราคาผู้ผลิต คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ทั้งจากการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งจากการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดจันทบุรีได้กว่า 100 ล้านบาท

การจัดงานได้จัดคูหาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติกว่า 300 คูหา โดยผู้ชมงานจะได้พบกับผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับและสินค้าเกี่ยวข้องมากมาย ได้แก่ พลอยดิบ พลอยเจียระไน เครื่องประดับอัญมณี วัตถุดิบประกอบอัญมณี เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมทุกภาคส่วนในวงการอุตสาหกรรมอัญมณี

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีไฮไลต์การจัดแสดงนิทรรศการสุดยอดพลอยสวยที่คัดสรรจากทั่วทุกมุมโลก “The GIT’s Enchanting Ruby & Sapphire Awards” การสาธิตการเจียระไนพลอย การแกะสลักโลหะด้วยมือ การแกะลายด้วยเครื่องตัดลาย การชุบ ขัดล้างเครื่องประดับ การลงยาสีเย็น-ร้อนบนเครื่องประดับ การเลเซอร์ตัวอักษรและสัญลักษณ์ โดยสมาคมช่างทองไทย นิทรรศการอัญมณีและเครื่องประดับ กิจกรรมสัมมนาด้านการตลาดการค้าออนไลน์และการออกแบบภายใต้หัวข้อ “จากดีไซน์สู่สินค้าเครื่องประดับออนไลน์ยุค New Normal” และกิจกรรม Gems Tour การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษา โดยผู้ร่วมกิจกรรมจะได้เยี่ยมชมการทำเหมืองแบบดั้งเดิม ภูมิปัญญาด้านการเผาพลอย และการเจียระไนพลอย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน GIT ได้จัดห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับเคลื่อนที่ (Mobile Lab) เพื่อให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับภายในงานโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายด้วย

สำหรับผลการจัดงานในครั้งนี้ ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ที่เดินทางมาร่วมงาน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจังหวัดจันทบุรีตอบโจทย์การค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นทั้งศูนย์กลางการผลิต ศูนย์กลางการค้าขาย ศูนย์กลางการเรียนรู้ และมั่นใจว่าจังหวัดจันทบุรีจะก้าวไปเป็นมหานครอัญมณีของโลกได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลไทยได้ตั้งเอาไว้

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business